Thursday, May 30, 2013

เทคนิคการถ่ายภาพ : ตอนที่ 1 เค้าปรับอะไรกันบ้างเวลาถ่ายภาพ

เทคนิคการถ่ายภาพ, กล้อง , DSLR
    เมื่อก่อนตอนที่ผมเพิ่งได้กล้องมาใหม่ๆ ด้วยความที่ไม่เคยเรียนและไม่มีใครสอน โหมดที่ง่ายที่สุดสำหรับผมคือโหมด Auto และพวกฟังก์ชันต่างๆที่อยู่ต่ำกว่าโหมดออโต้ จะถ่ายคน ถ่ายดอกไม้ ถ่ายภาพกีฬา หรือถ่ายวิว ฟังก์ชันสำเร็จรูปที่กล้องมีมาให้สามารถช่วยผมให้รอดพ้นจากสถานการณ์ยุ่งยากมาได้หลายครั้ง(เคยไหมครับ ที่ตอนซื้อกล้องมาใหม่ๆแล้วมีคนขอให้ถ่ายรูปให้ พวกเค้าคาดหวังว่าคนที่ถือกล้อง DSLR ทุกคนต้องถ่ายภาพเป็น ซึ่งมันก็ไม่เสมอไป^^)
    แต่พอเริ่มถ่ายไปได้ซักพัก ผมก็เริ่มรู้สึกว่า ถ้าจะใช้แค่ฟังก์ชันง่ายๆพวกนี้ แล้วจะซื้อ DSLR มาทำไม ในเมื่อโหมดที่มีสัญลักษณ์เป็นตัวอักษรภาษาอังกฤษที่อยู่เหนือกรอบสี่เหลี่ยมเขียวๆ (โหมด Auto) นั้น ผมไม่เคยหมุนไปใช้มันเลย หลังจากนั้นผมจึงเริ่มศึกษาการควบคุมกล้องถ่ายรูป ว่ามีค่าอะไรบ้างที่เราต้องใส่ใจ แล้วต้องทำยังไงถึงจะควบคุมมันได้ วันนี้ผมจะมาแบ่งปันประสบการณ์เท่าที่ผมพอจะมีให้ผู้อ่านทุกท่านครับ

    ค่าต่างๆที่เราต้องตั้งเวลาถ่ายรูปมีดังนี้ครับ
1. ค่ารูรับแสง (Aperture) : ค่ารูรับแสงเป็นค่าที่สำคัญในการกำหนดความชัดลึกชัดตื้นของภาพ และจากประสบการณ์ของผมมันเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดความเบลอด้วย ทำไมเหรอครับ เพราะเลนส์ส่วนใหญ่จะให้ภาพที่ชัดที่สุดในช่วงรูรับแสง f/9 - f/16 รูรับแสงแคบขนาดนี้ต้องการปริมาณแสงมากพอสมควรเพื่อให้ได้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่เร็วพอที่เราจะถือถ่ายได้โดยที่ภาพออกมาไม่เบลอ นี่เป็นเหตุผลที่ช่างภาพส่วนใหญ่เลือกไว้ใจขาตั้งกล้องมากกว่ามือของตัวเองครับ
    การควบคุม : วิธีการง่ายๆในการควบคุมรูรับแสงคือให้หมุนไปโหมด A หรือ Av ครับ  เราเลือกรูรับแสง กล้องเลือกความเร็วชัตเตอร์

2. ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter speed) : ถัดจากรูรับแสงก็หนีไม่พ้นความเร็วชัตเตอร์ครับ สองค่านี้มีความสัมพันธ์แนบชิดกัน ตั้งแต่เมื่อไหร่ผมไม่รู้ แต่ผมรู้ว่าถ้าเปลี่ยนค่าหนึ่งแล้วไม่สนใจอีกค่าหนึ่ง ภาพของเราจะมีปัญหาแน่นอน ^^ การกำหนดค่าความเร็วชัตเตอร์นั้นขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของภาพที่เราต้องการถ่ายโดยรายละเอียดในส่วนนี้ผมจะค่อยๆเล่าให้ฟังในบทความต่อๆไปครับ
    การควบคุม : หมุุนไปโหมด S หรือ Tv โหมดนี้เรากำหนดความเร็วชัตเตอร์ กล้องกำหนดรูรับแสง ครึ่งๆ : )

3. ISO (International Standard Organization) คำเต็มยาวมาก ช่างมัน... ISO สำหรับผมเป็นค่าที่สำคัญในการควบคุม noise ของภาพ ISO มาก noise ก็มากครับ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ให้พยายามเลือก ISO ต่ำที่สุดเท่าที่เราจะถ่ายภาพได้ในกรณีที่ถือถ่ายนะ ถ้ามีขาตั้งกล้องก็อีกเรื่องหนึ่ง จัดต่ำสุดๆไปเลยครับ : ))
    การควบคุม : ถ้าใครยังไม่เคยเห็นปุ่มนี้ก็ไม่แปลกหรอกครับ บางคนเห็นแล้วแต่ไม่สนใจ ลองมองหาดูครับ มันอยู่บนกล้องนั่นแหละ มันเขียนว่า ISO

4. White balance : มือใหม่ส่วนใหญ่จะใช้ White balance เป็นออโต้ มันก็ดีในสภาพแสงปกติ แต่ก็ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะฉะนั้นเราเลือกเองดีกว่าครับ มันก็ไม่เชิงเลือกเองทั้งหมดหรอก เพราะกล้องได้กำหนด WB มาให้เราแล้วว่าอันไหนเหมาะกับสภาพแสงเวลาไหน หน้าที่เราคือเลือกให้มันใกล้เคียง แล้วค่อยไปปรับแก้อีกทีในโปรแกรม ^^
    การควบคุม : มันก็มีปุ่มอยู่เหมือนเดิม ลองหาดูครับ ของผมมันเขียนว่า WB

5. Focus mode : อันนี้หลายๆคนอาจไม่ค่อยได้สนใจ แต่ผมว่ามันก็เป็นค่าที่สำคัญเช่นกัน ขึ้นกับแบบของเราว่าเป็นยังไง อยู่นิ่งหรือเคลื่อนไหว ของผมมีสามตัวเลือกครับ
    1. One Shot กดโฟกัสแล้วล็อคเลย ไม่เปลี่ยนใจ ไม่ว่าเราจะมองไปที่ใดก็ตาม
    2. AI Servo โฟกัสจะเปลี่ยนตามแบบตลอดเวลา คือพอเราหมุนกล้องไปตัวแบบอื่นมันก็จะโฟกัสใหม่ให้ครับ
    3. AI Focus รวมทั้งสองอย่างคือ ถ้าตัวแบบอยู่นิ่งก็จะทำงานเป็น one short แต่ถ้าตัวแบบเคลื่อนไหวก็จะเปลี่ยนเป็น AI servo ให้ทันที่ครับ
    การควบคุม : ของผมเขียนว่า AF ครับ ;b

6. จุดโฟกัส : การกำหนดจุดโฟกัสเป็นเรื่องสำคัญมากครับ ผมเคยถ่ายภาพแล้วออกมามันไม่ชัดตรงที่ๆเราอยากให้มันชัดซักที ก็ไม่เข้าใจว่าทำไม เพิ่งมารู้ทีหลังว่ามือมันเผลอไปโดนปุ่มเลือกจุดโฟกัส แล้วมันเปลี่ยนจุดโฟกัสไปตรงอื่น แหม่... ถ้าเป็นภาพทั่วไปก็ไม่เป็นไรหรอกครับ แต่ถ้าเป็นภาพสำคัญๆ นึกแล้วน่าเสียดาย ToT
    การควบคุม : มันอยู่บนกล้องของคุณอีกเช่นเคยลองหาดูครับ ^^

7. Drive Mode : ไม่รู้ภาษาไทยเค้าแปลว่าอะไร ขอภาษาปะกิดแล้วกันครับ โหมดนี้เอาไว้เลือกว่าอยากให้กล้องทำงานแบบไหน ยิงช็อตเดียวแบบ m79 หรือรัวเป็น m16 หรือจะหน่วงเวลาถ่ายภาพก็ได้ทั้งนั้น ลองหาดูมันมีประโยชน์มากๆ นากๆ ถ้าใช้เป็นครับ
    การควบคุม : อยู่บนกล้องครับ หาดูถ้าไม่เจอถามกูเกิ้ลได้ครับ : ))

    ครับ 7 ค่านี้คือสิ่งที่ผมคิดว่าเราต้องใส่ใจเวลาถ่ายภาพ เพื่อให้ภาพออกมาสมบูรณ์ที่สุด อาจจะดูเยอะ แต่พอชินแล้วไม่ยากครับ ปึ๊บปั๊บๆ เสร็จ อยากหนึ่งที่ผมอยากจะบอกก็คือให้พยายามตั้งค่าต่างๆด้วยตัวเองให้มากที่สุดครับ อย่าไปคิดว่าถ่ายๆไปเถอะ Photoshop ช่วยได้ แบบนั้นมันไม่โปรครับ : ) แล้วภาพที่ได้ผมรู้สึกว่ามันไม่น่าภูมิใจด้วย ถ้าเราพิถีพิถันในการกำหนดค่า ผมว่ามันก็เหมือนกับจิตรกรพิถีพิถันในการลงสีครับ มันจะขยับจากภาพถ่ายธรรมดามาเป็นงานศิลปะ แล้วเราจะรู้สึกมีความสุข และภูมิใจกับภาพถ่ายที่เราละเมียดละไมถ่ายออกมาครับ แหม่... ขนลุกเลย ฮ่าๆ สำหรับบทความนี้คงพอแค่นี้ก่อน ในบทความต่อไป ผมจะมาแบ่งปันเทคนิคในการถ่ายภาพ Land Scape ว่าถ้าเราอยากถ่ายภาพวิว เราจะเริ่มต้นยังไง ใช้โหมดไหน และตั้งค่าต่างๆยังไง ไว้ติดตามอ่านกันนะคร้าบ ^^

เทคนิคการถ่ายภาพ, กล้อง , DSLR

***ขอขอบคุณ นิตยสาร Digital Camera ทั้งฉบับภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่คอยเป็นไกด์ให้ผมตั้งแต่เริ่มต้นถ่ายภาพจนถึงปัจจุบันครับ : )