Monday, May 26, 2014

เทคนิคการถ่ายภาพ : ตอนที่ 4 ใส่ใจรายละเอียดด้วยการใช้ Manual Focus

เทคนิคการถ่ายภาพ, manual focus, กล้อง, เลนส์
เหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้ผมชอบการถ่ายภาพคือ ผมรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ละเอียดอ่อน ละเอียดอ่อนในการตั้งค่ากล้อง การเลือกรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ การเลือกจุดโฟกัส การวางองค์ประกอบ ฯลฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนมีผลต่อความหมาย อารมณ์ และความรู้สึกของภาพทั้งสิ้น ภาพบางภาพอาจดูธรรมดาๆ ถ้าเกิดเราดูผ่านๆ แต่ถ้าเรามีความรู้เรื่องการถ่ายภาพซักนิด แล้วใช้เวลาพิจารณาซักครู่ บางทีเราอาจจะเห็นรายละเอียด ความใส่ใจของช่างภาพที่ซ่อนอยู่ในภาพนั้นๆก็ได้ครับ

ต่อจากบทความเทคนิคการถ่ายภาพในตอนที่ 2 เรื่อง อยากได้ภาพวิวชัดทั้งภาพต้องทำยังไง มีคนสอบถามผมเข้ามาเกี่ยวกับวิธีการใช้ manual focus ว่าใช้ยังไง แล้วที่โฟกัสที่ระยะ 3 เมตร 4 เมตรนี่เค้าดูกันยังไงว่าเราโฟกัสที่ระยะนั้นๆแล้ว วันนี้เลยจะขอเขียนอธิบายเกี่ยวกับวิธีการใช้งาน manual focus ครับ

เริ่มจากทำไมถึงต้องใช้ manual focus กันก่อน ทั้งๆที่ auto focus มันก็มีอยู่ จะโฟกัสมือให้ยุ่งยากลำบากตัวเองทำไม...?    แน่นอนครับ ระบบ auto focus นั้นเป็นระบบที่ช่วยเราได้มากโดยเฉพาะช่างภาพมือใหม่ หรือช่างภาพสมัครเล่นทั่วไป ที่อยากถ่ายภาพเก็บเอาไว้เพื่อบันทึกความทรงจำ แต่ทุกระบบย่อมมีเงื่อนไข ระบบ auto focus เองก็เหมือนกัน บางทีเราอาจจะเคยเจอปัญหาโฟกัสไม่ได้ ทั้งๆที่อยู่ในช่วงกลางวัน แสงเยอะ เราก็เห็นวัตถุนั้นชัดเจน แต่ทำไมมันโฟกัสไม่ติด ปัญหานี้มาจากหลายสาเหตุครับ ซึ่งวิธีแก้ปัญหาโฟกัสไม่ติดนี้ก็ง่ายๆ มันอยู่บนเลนส์ของเรานั่นแหละครับ คือการใช้ manual focus นั่นเองเรามาลองกันเลยดีกว่าโดยทำตามขั้นตอนง่ายๆดังนี้ครับ

ขั้นที่ 1 เปลี่ยนจาก Auto เป็น Manual focus : ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกล มันอยู่บนตัวเลนส์ของเรานั่นแหละครับ

เทคนิคการถ่ายภาพ, manual focus, กล้อง, เลนส์

ขั้นตอนที่ 2 หมุนแล้วก็หมุน : หมุนปรับวงแหวนโฟกัสจนกว่าภาพที่เรามองผ่านช่องมองภาพมันจะชัดครับ จะรู้ได้ไงว่ามันชัดแล้ว ก็ให้สังเกตุจะเห็นไฟกระพริบตรงจุดโฟกัสที่เราเลือกเอาไว้ครับ อาจมีเสียงติ๊ดด้วยสำหรับคนที่เปิดเสียงไว้

เทคนิคการถ่ายภาพ, manual focus,โฟกัส, กล้อง, เลนส์

ขั้นตอนที่ 3 มองหาตัวช่วย : ตัวช่วยที่ผมจะแนะนำสำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้มันคือ ตัวเลขบอกระยะโฟกัส ครับ มันก็อยู่บนเลนส์เรานั่นแหละครับ แต่ผมเชื่อว่าหลายๆคนคงจะไม่เคยใช้ประโยชน์จากมัน และไม่รู้ด้วยว่ามันมีไว้ทำอะไร ซึ่งๆจริงแล้วตัวเลขนี้มีประโยชน์อย่างมาก ถึงมากๆ ครับ 

วิธีการใช้งานมันก็ง่ายๆ คือเราอยากโฟกัสที่ระยะเท่าไหร่ ก็ให้หมุนตัวเลขนั้นๆให้ตรงกับขีดกลางครับ วิธีนี้จะช่วยได้มากในตอนที่แสงน้อยๆ น้อยจนเราไม่อาจจะแน่ใจได้ว่าการที่เราโฟกัสด้วยสายตาผ่านช่องมองภาพนั้นมันแม่นยำหรือไม่ ก็ให้เรากะระยะห่างจากตัวเราถึงวัตถุนั้นคร่าวๆ แล้วก็หมุนปรับโฟกัสโดยอ้างอิงตัวเลขครับ วิธีการนี้อาจจะได้ภาพที่ไม่คมชัดมากเท่าที่เราต้องการ แต่ก็ดีกว่าถ่ายมันไม่ได้เลยครับ 

วิธีการนี้จะทรงประสิทธิภาพมากๆสำหรับคนที่ชอบถ่ายภาพวิวโดยใช้ hyperfocal distance ครับ จากที่ผมได้อธิบายเอาไว้ในตอนที่ 2 การเลือกระยะโฟกัสก็จะใช้วิธีการนี้ในการเลือกครับ โดยเมื่อเราได้ค่าระยะโฟกัสที่จะทำให้ได้ภาพแบบ hyperfocal จากตารางแล้ว เราก็ปรับวงแหวนโฟกัสไปที่ระยะนั้นๆโดยอาศัยตัวเลขระยะบอกโฟกัสเป็นตัวช่วยนั่นเองครับ

เทคนิคการถ่ายภาพ, manual focus, โฟกัส, กล้อง , เลนส์

ขั้นตอนที่ 4 เช็คให้ชัวร์ : ตรวจดูภาพให้แน่ใจว่าเราโฟกัสได้ถูกต้องแม่นยำตามที่เราต้องการหรือไม่ โดยการซูมภาพเข้าไปดู ตรวจให้แน่ใจก่อนครับ ไม่ต้องรีบ เสียเวลา ดีกว่าเสียโอกาส ภาพบางภาพ มุมบางมุม ที่บางที่ เราอาจมีโอกาสได้พบเจอแค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้น เอาให้ชัวร์ว่าได้ภาพอย่างที่เราต้องการก่อน แล้วค่อยไปถ่ายภาพอื่นต่อครับ ^^

เทคนิคการถ่ายภาพ, manual focus, โฟกัส,กล้อง,เลนส์

4 ขั้นตอนง่ายๆในการใช้ manual focus ไม่ยากเลยใช่มั้ยครับ เพียงเท่านี้ก็จะทำให้เรารู้สึกว่าภาพถ่ายของเรามีคุณค่ามากขึ้น ไม่ใช่ภาพที่ถ่ายผ่านๆทั่วไป ถ้าบังเอิญเอามาแต่งแล้วสวยก็ดีใจ ไม่สวยก็ช่างมันไม่ได้รู้สึกอะไร การใส่รายละเอียดลงไปในการถ่ายภาพ ทำให้ภาพของเรามีคุณค่ามากขึ้นครับ ไม่ใช่กับใครที่ไหน มันมีคุณค่ากับตัวเราเองครับ ^^

เครดิต : เนื้อหาและภาพประกอบในบทความนี้ส่วนใหญ่ผมอ้างอิงมาจากเว็บ Digital Camera World ครับ นำมาแปลและเรียบเรียงด้วยภาษาของผมเอง หากผิดพลาดประการใดก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ